หน้าหลัก :เกี่ยวกับเรา » หมวด 4 การเปิดเผยข้อมูลและความโปร่งใส...

นโยบายกำกับดูแลกิจการ

นโยบายในการประกอบธุรกิจ

คณะกรรมการบริษัท(คณะกรรมการ) และฝ่ายบริหารได้ร่วมกันกำหนดนโยบายการประกอบธุรกิจ ดังนี้

 

วิสัยทัศน์

มุ่งสู่ความเป็นหนึ่งเรื่องท่อในอาคาร

 

พันธกิจ

  1. รักษามาตรฐานคุณภาพสินค้า
  2. สร้างตราสินค้าให้เป็นที่รู้จัก
  3. รักษาฐานลูกค้าปัจจุบัน
  4. สร้างความหลากหลายในสินค้าเพื่อตอบสนองลูกค้าในทุกกลุ่ม
  5. ให้บริการที่ดีและรวดเร็ว

 

ค่านิยม

  1. ประกอบธุรกิจอย่างซื่อสัตย์ สุจริต มีจริยธรรมและคุณธรรม
  2. ใช้พลังงานอย่างคุ้มค่าและคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
  3. การทำงานเป็นทีม

 

      บริษัทยังตระหนักถึงความสำคัญในการปฏิบัติตามหลักบรรษัทธรรมาภิบาลในการดำเนินธุรกิจ ดังนั้นคณะกรรมการบริษัทจึงได้มีนโยบายปฏิบัติตามหลักการและข้อพึงปฏิบัติที่ดีสำหรับกรรมการบริษัท ซึ่งสอดคล้องกับข้อพึงปฏิบัติที่ดีสำหรับกรรมการบริษัทจดทะเบียน (Code of Best Practices for Directors of Listed Company) ตามแนวทางของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ทั้งนี้ การกำหนดบทบัญญัติต่างๆ จะยึดให้เป็นแนวทางให้ปฏิบัติได้จริง นอกจากนี้บริษัทได้นำหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี (Good Corporate Governance) มาใช้เป็นแนวทางในการพัฒนานโยบายที่ครอบคลุมถึงสิทธิและความเท่าเทียมกันของผู้ถือหุ้นและผู้มีส่วนได้เสีย โครงสร้าง บทบาทหน้าที่ ความรับผิดชอบและความเป็นอิสระของคณะกรรมการ การเปิดเผยข้อมูลและความโปร่งใส การควบคุมและบริหารความเสี่ยง ตลอดจนจริยธรรมทางธุรกิจ เพื่อให้การบริหารงาน และการดำเนินธุรกิจของบริษัท เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และโปร่งใส โดยหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี ซึ่งครอบคลุมหลักการ 5 หมวด ดังนี้

หมวดที่ 1 สิทธิของผู้ถือหุ้น
หมวดที่ 2 การปฏิบัติต่อผู้ถือหุ้นอย่างเท่าเทียม
หมวดที่ 3 การปฏิบัติต่อผู้มีส่วนได้เสียอื่น
หมวด 4 การเปิดเผยข้อมูลและความโปร่งใส
หมวดที่ 5 โครงสร้างและความรับผิดชอบของคณะกรรมการบริษัท

หมวด 4    การเปิดเผยข้อมูลและความโปร่งใส

1. การเปิดเผยข้อมูล

 

  • บริษัทฯจะเปิดเผยข้อมูลตามข้อกำหนดของ กลต. ตลท. และกฎหมายที่เกี่ยวข้องโดยเคร่งครัด ซึ่งรวมถึงการเปิดเผยข้อมูลต่อผู้ถือหุ้น และ/หรือสาธารณะโดยเท่าเทียมกัน
  • บริษัทฯมีนโยบายเปิดเผยข้อมูลการเข้ารับการพัฒนาและฝึกอบรมของกรรมการแต่ละคนในปีที่ผ่านมาไว้ในรายงานประจำปี
  • บริษัทฯมีนโยบายให้กรรมการต้องรายงานการมีส่วนได้เสียกับบริษัทฯ
  • บริษัทฯมีนโยบายให้มีการปฏิบัติ และเปิดเผย นโยบายการกำกับดูแลกิจการ หรือจรรยาบรรณธุรกิจ จรรยาบรรณผู้บริหารและพนักงานของบริษัทฯ ที่เป็นปัจจุบันไว้บนเวปไซต์ของบริษัทฯ
  • บริษัทฯ อยู่ระหว่างการพิจารณาเปิดเผยนโยบายค่าตอบแทนของ CEO ทั้งระยะสั้นและระยะยาว รวมถึงตามผลการปฏิบัติงานของ CEO
  • บริษัทฯจะไม่เปิดเผยข้อมูลที่มีนัยสำคัญที่ยังไม่ได้เปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณชนให้แก่พนักงานที่ไม่ได้รับอนุญาต กลุ่มบุคคล หรือบุคคลอื่นใด(รวมถึงนักลงทุน สื่อมวลชนและนักวิเคราะห์) จนกว่าข้อมูลจะได้รับการเปิดเผยให้แก่สาธารณชนแล้ว
  • บริษัทฯ กำหนดช่องทางการแจ้งข้อร้องเรียน และข้อเสนอแนะ (Whistle Blower) โดยเปิดโอกาสให้พนักงาน ลูกค้า คู่ค้า และเจ้าหนี้ ตลอดจนผู้มีส่วนได้เสียอื่น ในเรื่องที่เกี่ยวกับ

 

1.การทุจริตและคอรัปชั่น ฉ้อโกง หรือการปฏิบัติมิชอบด้วยกฎหมายของบริษัทฯ กรรมการ ผู้บริหาร หรือพนักงาน อันจะทำให้บริษัทเสียหาย หรือสูญเสียประโยชน์ที่พึงจะได้รับ

 

2.ข้อร้องเรียนเกี่ยวกับกฎหมาย หลักเกณฑ์ และข้อกำหนดต่างๆ ที่บริษัทจะต้องปฏิบัติตาม

 

3.ข้อร้องเรียนเกี่ยวกับ นโยบายการดำเนินงานและนโยบายทางบัญชีและการเงิน งบการเงิน ข้อมูลทางการเงิน ผลการดำเนินงาน และฐานะทางการเงินของบริษัทฯ

 

4.ข้อร้องเรียนเกี่ยวกับรายการเกี่ยวกับความขัดแย้งทางผลประโยชน์ หรือรายการที่เกี่ยวโยงกัน กับบริษัท ซึ่งเข้าข่ายตามประกาศคณะกรรมการตลาดทุน หรือตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

 

5.ข้อร้องเรียนเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน การละเมิดทรัพย์สินทางบัญญา หรือลิขสิทธิ์

 

6.ข้อร้องเรียนอื่น ๆ ตามที่คณะกรรมการบริษัทฯ หรือคณะกรรมการตรวจสอบ ประกาศเพิ่มเติม

 

เพื่อให้เป็นไปตามการปฏิบัติตามการดูแลกิจการที่ดี บริษัทกำหนดช่องทางการรับเรื่องเกี่ยวกับบรรษัทภิบาลของบริษัท ผ่านช่องทางติดต่อ เลขานุการบริษัท หรือกรรมการตรวจสอบ ซึ่งบริษัทฯจะปกปิดแหล่งข้อมูลเป็นความลับ และมีมาตรการคุ้มครองความปลอดภัย โดยจะนำข้อร้องเรียนมาพิจารณาอย่างจริงจัง เพื่อกำหนดวิธีการแก้ไขเพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ทุกฝ่าย และสร้างความสัมพันธ์อันดีในการทำงานร่วมกัน


 

 

2. การจัดทำรายงานทางการเงิน

 

             คณะกรรมการตระหนักถึงความรับผิดชอบต่อรายงานทางการเงินที่มีข้อมูลถูกต้อง ครบถ้วน โปร่งใส เพื่อรักษาไว้ซึ่งทรัพย์สินของบริษัทฯจากการสูญหายหรือนำไปใช้โดยบุคคลอื่นที่ไม่มีอำนาจหน้าที่ ป้องกันการทุจริตและการดำเนินงานที่ผิดปกติไม่เป็นไปตามมาตรฐานการบัญชีที่รับรองทั่วไปในประเทศไทย และปฏิบัติถูกต้องตามกฎหมายและประกาศที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ผู้มีส่วนได้เสียมีความเชื่อมั่นรายงานทางการเงิน คณะกรรมการจึงจัดให้มีคณะกรรมการตรวจสอบทำหน้าที่กำกับดูแลการจัดทำรายงานทางการเงินให้มีการใช้นโยบายทางบัญชีที่เหมาะสม ซึ่งถือปฏิบัติโดยสม่ำเสมอและสอดคล้องกับกฎหมายและประกาศที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งการสอบทานความถูกต้องและความเพียงพอของรายงานทางการเงิน ตรวจสอบรายการระหว่างกัน และระบบการควบคุมภายใน โดยคณะกรรมการตรวจสอบจะรายงานผลต่อคณะกรรมการในการประชุมคณะกรรมการทุกครั้ง ทั้งนี้รายงานของคณะกรรมการบริษัท คณะกรรมการตรวจสอบ และรายงานของผู้สอบบัญชี มีรายละเอียดปรากฏในรายงานประจำปี